หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 8


รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2563

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2563 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ

                 1.1 เศรษฐกิจโลก การทยอยผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ ดังนั้น กนง. จึงปรับเพิ่มข้อสมมติอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยประเมินว่าจะหดตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2563 และกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ในปี 2564 ทั้งนี้ ภาครัฐทั่วโลกได้ดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเต็มที่เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 โดยมุ่งเน้นมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและมาตรการดูแลภาคครัวเรือนและการจ้างงาน ส่วนธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคบางแห่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม

                 1.2 เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย สรุปได้ดังนี้

                          1.2.1 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวรุนแรงร้อยละ 12.2 จากระยะเดียวกันของปีก่อนตามอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่หดตัวจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักชั่วคราว เช่น ภาคการผลิตเกือบทุกอุตสาหกรรมหดตัวตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าของไทยและปริมาณการค้าโลกที่ลดลงมาก และการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตเนื่องจากการขนส่งระหว่างประเทศหยุดลงชั่วคราว

                          1.2.2 เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชนเริ่มทยอยฟื้นตัวแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำตามรายได้ครัวเรือนที่ลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีการหดตัวตามความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

                          1.2.3 เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 7.8เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ในส่วนการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.2โดยการส่งออกไปอาเซียนและตะวันออกกลางยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและจีนเริ่มทยอยฟื้นตัว

                          1.2.4 เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยคาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเนื่องจากคาคว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้จำกัด (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9 ล้านคน) ด้านอุปสงค์ในประเทศการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวแต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงรายได้ครัวเรือนที่เปราะบางและไม่แน่นอนสูง โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน อยู่ในระดับสูง และผู้มีงานทำมีรายได้ลดลงจากค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่ลดลง

                          1.2.5 ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2563 และ 2564 เกินดุล 14.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและ 14.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ โดยเกินดุลลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนเนื่องจากดุลบริการขาดดุลมากขึ้นตามรายรับนักท่องเที่ยวที่ลดลงมากเป็นสำคัญ

                          1.2.6 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ทยอยปรับสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่สูงขึ้นและราคากลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากมาตรการลดค่าสาธารณูปโภคมีผลน้อยกว่าที่คาดการณ์ โดย กนง. ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้ติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.9 ในปี 2563 และกลับมาเป็นบวกใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 1.0 ในปี 2564 ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 และ 0.2 ตามลำดับ

                 1.3 เสถียรภาพระบบการเงินไทยยังมีความเสี่ยงสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมากในปีนี้จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางและมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อเชิงรุกของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไป รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมที่ตรงจุดมากขึ้น เช่น โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจธุรกิจไทยมั่นคง และมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อยโดยการรวมหนี้ จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

          2. การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ในการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 และวันที่ 23 กันยายน 2563 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งนี้ กนง. เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาลมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม กนง. เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่แตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ภาครัฐจึงควรใช้มาตรการที่ตรงจุด ทันการณ์ และเอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม รวมทั้งบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนนโยบายการคลังผ่านต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับต่ำภายใต้สภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 มกราคม 2563

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A1070

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!