ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงเกณฑ์คุณสมบัติกองทุนต่างประเทศที่กองทุนรวมลงทุนได้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติกองทุนต่างประเทศที่กองทุนรวมไทยสามารถลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกผู้ลงทุน รองรับพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลาย
ตามที่ ก.ล.ต. กำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมไทยที่ประสงค์จะลงทุนในกองทุนต่างประเทศ โดยมีคุณสมบัติส่วนหนึ่งให้กองทุนต่างประเทศดังกล่าว ต้องเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่ม (collective investment scheme: CIS)* ที่ผู้จัดการกองทุน (CIS operator) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกสามัญขององค์กร ก.ล.ต. นานาชาติ (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) เพื่อให้มั่นใจว่า หากมีความจำเป็น ก.ล.ต. จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลกองทุนต่างประเทศนั้นกับหน่วยงานกำกับดูแลต่างประเทศได้ภายใต้ IOSCO MMoU ซึ่งเป็นข้อตกลงในระดั บพหุภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย
ด้วยโครงสร้างและลักษณะการกำกับดูแลของกองทุน CIS ต่างประเทศที่มีความหลากหลาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม 2568 จึงมีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติม CIS ต่างประเทศที่กองทุนรวมไทยสามารถลงทุนได้ และให้รวมถึงกองทุน CIS ต่างประเทศในรูปแบบอื่นด้วย เช่น กองทุน Commodity-based Trust เป็นต้น** โดยเป็นกองทุน CIS ต่างประเทศซึ่งมีลักษณะ ดังนี้ (1) การออกและการเสนอขายอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานต่างประเทศที่กำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO และ (2) เป็นหน่วยของกองทุน CIS ต่างประเทศที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนของกองทุนรวมไทย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลได้ตามความจำเป็น โดยกองทุน CIS ต่างประเทศดังกล่าวยังต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ*** (ยกเว้นเกณฑ์คุณสมบัติของ CIS operator ข้างต้น) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้องตามหลักการข้างต้น และได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1068 หรือทางอีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2568
_______________________
หมายเหตุ :
* กองทุน CIS ต่างประเทศ หมายถึง กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่ม (collective investment scheme) ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปแบบอื่นใด แต่ไม่รวมถึงกองทุน property กองทุน infra กองทุน private equity ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
** กองทุน CIS ต่างประเทศที่มีโครงสร้างการจัดการที่แตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป เช่น กองสินค้าโภคภัณฑ์ต่างประเทศที่มุ่งเน้นลงทุนในโลหะมีค่า ซึ่งจัดตั้งในรูปแบบทรัสต์ (commodity-based trust) ซึ่งผู้บริหารจัดการกองทรัสต์อาจมิใช่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) (CIS operator) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO
*** เช่น กองทุน CIS ต่างประเทศต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแล การออก และเสนอขาย และการจัดการสำหรับกองทุนเพื่อผู้ลงทุนรายย่อยของประเทศนั้น ประเทศที่กำกับดูแลการเสนอขายหน่วยดังกล่าวมีมาตรการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอตามรายชื่อประเทศที่สำนักงานกำหนด เว้นแต่เป็น ETF ต่างประเทศที่มีการบริหารจัดการในลักษณะ passive management เป็นต้น
4576